

สัมผัสเสน่ห์ช้างไทย ชมโลกของช้าง ขึ้นหอชมทิวทัศน์อิฐ แวะลานแสดงช้าง ชมช้อปสินค้าทางวัฒนธรรม ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน


วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี เปิดป้าย “สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2565” ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านหนองบัว จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนยลวิถี ประจำปี 2565 ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยมีนายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ นายศักรินทร์ ทุมเสน ปลัดจังหวัดสุรินทร์ ผู้บริหาร วธ. วัฒนธรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ผู้แทนสภาวัฒนธรรมจังหวัด ชาวชุมชนบ้านหนองบัว นักท่องเที่ยว และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ วัดป่าอาเจียง



เปิดงานด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน รำคล้องช้าง และรำมูดมัด นั่งช้างแห่ต้นผ้าป่าสามัคคี วิถีคน วิถีช้าง พาชมสถานที่ท่องเที่ยวภายในวัดป่าอาเจียง อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาที่สำคัญของชุมชนแห่งนี้ ได้แก่ 1. บ้านคนบ้านช้าง 2. ไหว้ศาลปะกำ 3. สุสานช้าง 4. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวกวย 5. ชมนิทรรศการ “มองกล้อง ส่องเลนส์ วิถีคน วิถีช้าง”



ชมการสาธิตและผลิตภัณฑ์ชุมชนมากมาย อาทิ สาธิตทำแหวนหางช้าง ตะขอช้าง การทอผ้าไหม อาหารพื้นบ้าน ขนมพื้นบ้าน “ข้าวต้มด่าง” การทำกระถางจากมูลช้าง และสาธิตอาหาร 3 ชาติพันธ์ “เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน เฮ็ดบุญ เฮ็ดทาน” ต่อด้วยขึ้นรถนำเที่ยวสู่ศูนย์คชศึกษา ชมโลกของช้าง จ.สุรินทร์ เข้าพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง แวะชมการแสดงช้างแสนรู้ ณ ลานแสดงช้าง


ปลัด วธ. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม อีกทั้งในปี 2566 วธ. มุ่งขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม จากกระทรวงสังคม สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ตามนโยบาย “เปลี่ยนฉากทัศน์วัฒนธรรม สู่ก้าวที่มั่นคงและยั่งยืน” เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนและประเทศชาติ ทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยบทบาทงานวัฒนธรรมจะต้องมีการตอบโจทย์สถานการณ์โลกในยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วธ. จึงเปิดตัวสุดยอดชุมชนคุณธรรมต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านหนองบัว จ.สุรินทร์ ขึ้นอย่างเป็นทางการ เปิดชุมชนให้เป็นที่รู้จักถึงศักยภาพและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเข้มแข็งของชุมชน ดึงดูด ให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์มากขึ้น


ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านหนองบัวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง “กูย” มีลักษณะเด่นเฉพาะ มีความชำนาญในการจับช้างและเลี้ยงดู เกิดเป็นความผูกพันระหว่างคนกับช้างกลายเป็นอัตลักษณ์แห่งวิถีกูยอาเจียง (คนเลี้ยงช้าง) มาอย่างยาวนาน เป็นที่รู้จักและถูกเรียกว่าเป็นหมู่บ้านช้างที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทยและมากที่สุดในโลก นั่นคือ คชศาสตร์ชาวกูย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นอกจากนี้มีการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองกูยที่มีอัตลักษณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของชุมชน เช่น วัดป่าอาเจียง ศาลาเอราวัณ เรียนรู้วิถีชีวิตคนกับช้าง



มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ของชาวกูย จัดกิจกรรมป้อนอาหารช้าง อาบน้ำช้าง ถ่ายรูปกับช้าง พายเรือพื้นบ้าน เป็นต้น อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีดั้งเดิมของชุมชนในรูปแบบการมีส่วนร่วมระหว่างคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว นำเที่ยวชุมชนโดยมัคคุเทศก์ท้องถิ่นหรือมัคคุเทศก์น้อย จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรกับช้าง การทำอาหารพื้นบ้าน งานหัตถกรรม


เปิดกิจกรรม Work-Shop ทำกระถางจากมูลช้าง ทำแหวนหางช้าง การแสดงพื้นบ้าน ประเพณีบวชนาคช้าง ชวนช้อปผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ตะขอช้าง แหวนหางช้าง ตะขอช้างมงคลใส่กรอบที่ทำจากมูลช้าง ถือเป็นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน ให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน อย่างไรก็ตามการเที่ยวชุมชน ยลวิถี จะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจแก่คนในชุมชนให้เกิดความยั่งยืนสืบไป
ประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
โย นสพ.ประเด็นรัฐ