Home » เผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทย เสริมสร้างคุณค่า ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผ่าน 7 ของที่ระลึกงานประชุม APEC 2022 สำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่ารัฐบาล โดยคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ได้พิจารณาเห็นชอบของขวัญและของที่ระลึกทั้งหมด 7 รายการ

นำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทย บอกเล่าเรื่องราวและคุณค่า ส่งเสริมแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และโมเดลเศรษฐกิจ BCG อันสอดคล้องกับ แนวคิดหลักของการประชุม Opem. Connect. Balancce. เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล ในครั้งนี้ เพื่อให้ ผู้นำทุกเขตเศรษฐกิจประทับใจในการเตรียมการต้อนรับของไทย อย่างสูงสุดโดยของที่ระลึกทุกชิ้นถูกจัดทำอย่างตั้งใจ เชื่อว่าจะประทับใจผู้นำจากทุกเขตเศรษฐกิจ และสามารถใช้งานได้จริงอย่างแน่นอน ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีการจัดทำขึ้นสำหรับวาระนี้ โดยเฉพาะและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดสรรมาอย่างดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • 1.ภาพดุนโลหะ“รัชตะแสนตอก” (สำหรับผู้นำ) ภาพพระบรมมหาราชวังและกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค จากมุมมองของผู้นำที่จะได้ชมจากหอประชุมกองทัพเรือในคืนของงานเลี้ยงรับรอง ใช้เทคนิคดุนลายหรือตอกเงิน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่สืบทอดมากว่า 700 ปี บนแผ่นโลหะรีไซเคิล พื้นหลังแสดงลายนูนต่ำ ลวดลาย ‘ชะลอม’ ที่พัฒนาขึ้นจากตราสัญลักษณ์การประชุมเอเปค โดยผูกร้อยขึ้นสี่มุมให้เป็นรูปทรงลายประจำยาม หนึ่งในลายไทย ส่วนกรอบรูปดุนลายขึ้นเป็นลายพื้นเมืองล้านนา ซึ่งทั้งภาพและกรอบนี้ ใช้วัสดุโลหะรีไซเคิลสีเงิน (รัชตะ) โดย ผ่านการดุนหรือตอกนับแสนครั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อภาพ ‘รัชตะแสนตอก’ ผลิตจากชุมชนคุณธรรมฯ วัดศรีสุพรรณ  (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเทคนิคการดุนโลหะของชุมชนนี้ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยในชุมชนเองก็มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาฝึกฝนเทคนิคนี้จนชำนาญอย่างต่อเนื่อง

  • 2.กล่องเครื่องประดับดุนโลหะ “รัชตะหมื่นตอก” (สำหรับคู่สมรส) ใช้เทคนิคดุนลายบนแผ่นโลหะรีไซเคิลสีเงิน(รัชตะ) ตรงกลางกล่องแสดงลายตอกนูนต่ำตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย“ชะลอม” โดดเด่นบนพื้น รูปชะลอมที่เรียงร้อยเข้าทั้งสี่มุมเป็นลายประจำยาม กล่องรัชตะหมื่นตอกได้รับการดุนลายด้วยการตอกนับหมื่นครั้ง ต่อหนึ่งชิ้นงาน ด้านในของกล่องบุด้วยผ้าไหมสีแดงชาด ผลิตจากชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัด เชียงใหม่ เช่นกัน 

  • 3.ชุดผลิตภัณฑ์ผ้า “จตุราภรณ์” ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติด้วยสีจากเปลือกมะพร้าว อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พิมพ์ลาย “ชะลอม” ร้อยเรียงขึ้นเป็นลายไทยประจำยาม จตุราภรณ์ หรือ อาภรณ์ ทั้งสี่ชิ้น เชื่อมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย ประกอบด้วย เนกไท ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดหน้า และหน้ากากผ้า นอกจากนี้ ยังได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดกับความร่วมสมัยในการทำผ้าคลุมไหล่

  • 4. สมุดรายนามผู้ผลิตผ้าไหมและผู้ประกอบการทั่วประเทศฉบับพิเศษ หรือใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai Silk for All” จัดทำโดย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย” สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ สืบสานและต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่ ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีในการนำทุนทางวัฒนธรรมด้านผ้าไทยมาเพิ่มคุณค่าและมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนา ต่อยอดและยกระดับผ้าไทยไปสู่เวทีโลก

  • 5. เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระองค์ท่านให้แผ่ไพศาลไปทั้งในประเทศและนานาประเทศ และเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสำคัญ โดยเป็นเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิเกิล) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม ประเภทธรรมดาแบบมีลวดลาย ชนิดราคา 20 บาท จำนวน 1,000,000 เหรียญ

  • 6.กรอบรูปถมเงิน พร้อมภาพพระราชทานของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในระหว่างการเข้าเฝ้าฯ เป็นงานฝีมือถมเงิน  ซึ่งเป็นงานศิลปหัตกรรมชั้นสูง ที่น่าภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของคนไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และสืบทอดมาจนถึง ปัจจุบัน โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

  • 7.กล่องลิเภาเลี่ยมขอบเงิน ตกแต่งเงินลงยาสี โดย “ลิเภา” หรือ “ย่านลิเภา” (ตามภาษาท้องถิ่นภาคใต้) เป็นไม้เถาเลื้อยตระกูลเฟิร์นหรือเถาวัลย์ ลำต้นเมื่อแก่จะมีสีเข้มเป็นมันเหนียวทนทาน คนไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและ ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงนำลำต้นลิเภามาสานเป็นภาชนะ เครื่องใช้พื้นบ้านต่าง ๆ งานจักสานย่านลิเภาเป็นงานละเอียด ประณีต ที่ต้องใส่ใจ ใช้ความพยายามและความอดทนทุกขั้นตอน

ผลิตภัณฑ์จากสถาบันสิริกิติ์ รายการที่ 6 และรายการที่ 7 สะท้อนพระปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสืบสานศิลปหัตถกรรมในทุกสาขา ทั้งศิลปหัตถกรรมโบราณที่ใช้เทคนิคชั้นสูง และศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อันเป็นการพัฒนา เศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน

แนวคิดในการจัดทำของที่ระลึกสำหรับผู้นำและคู่สมรสในครั้งนี้ ได้รับโจทย์มาจากแนวคิดหลักของการประชุม และ แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ โดยกระทรวงวัฒนธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน ที่สร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุ ธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า นำมารังสรรค์ผลงาน เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า จากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น อันจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเราพยายามนำแนวคิดโมเดล เศรษฐกิจแบบ BCG มาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้คงความเป็นอัตลักษณ์แบบไทย แต่ผสมผสานเทคนิคแบบ สมัยใหม่ ก่อให้เกิดเป็นผลงานร่วมสมัยที่ยังคงผสานกลิ่นอายของความเป็นไทย

ประชาสัมพันธ์กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)

โย นสพ.ประเด็นรัฐ