พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จัดประชุม การแก้ไขปัญหาฉ้อโกงออนไลน์ ในวันนี้ 9 ธ.ค. 65 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พลตำรวจเอกดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งผู้แทนกระทรวงการคลัง
ที่ประชุมได้สรุปผลของการปฎิบัติงานและสถิติการดำเนินคดีทางอาชญากรรมออนไลน์ที่สำคัญ ในปี 2565 ถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ ประกอบด้วย
1. การปิดกั้นข้อความ SMS/โทรหลอกลวง จำนวน 94,043 หมายเลข และดำเนินคดีแก๊งค์ Call center 46 คดี จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ จำนวน 60 ราย
2. การอายัดบัญชีม้าจำนวน 47,245 บัญชี และปิดกลุ่มโซเชี่ยลมีเดียซื้อขายบัญชีม้า จำนวน 8 กลุ่ม
3. การดำเนินคดีหลอกลวงลงทุน – ระดมทุน ออนไลน์และหลอกลวงทางการเงิน จำนวน 562 คดี จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 578 ราย
4. การปราบพนันออนไลน์ โดยดำเนินคดี 287 คดี มีผู้ต้องหาจำนวน 430 ราย และปิดกั้นเว็บไซต์พนันจำนวน 1,691 เว็บไซต์
5. การดำเนินคดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ จำนวน 246 คดี และจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 253 ราย
ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีพิจารณากรณี ที่ลูกค้าที่ใช้บริการ ShopeePay Wallet สูญเงินจากบัญชีโดยที่ลูกค้าไม่ได้เป็นผู้ทำรายการ ซึ่งตำรวจไซเบอร์อยู่ระหว่างการสืบสวนหาข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ฝากเตือนให้ประชาชนระวังการได้รับ SMS หรือข้อความต่างๆ ซึงอาจทำให้หลงเชื่อว่ามาจากผู้ให้บริการนั้นๆผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เช่น อาจหลอกโดยการแจ้งว่า account มีปัญหาหรือบัญชีถูกระงับ มีการโอนเงินแปลกๆ พร้อมกับมีการส่งลิงก์ให้กดเพื่อทำการแก้ปัญหาตามที่อ้าง และพบว่าคนร้ายอาจติดต่อลูกค้าให้เพิ่มเพื่อนทาง Line โดยใช้โลโก้ของบริการนั้นๆ และขอรหัสผ่าน รหัสบัญชี ทั้งนี้ผู้ใช้งาน ควรพิจารณา การติดต่อต่างๆ จะต้องติดต่อผ่านทางแอปของการบริการนั้นๆ เท่านั้น ไม่ควรติดต่อผ่านช่องทางอื่นและที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าตามแนวทางมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงทางออนไลน์ โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ มีเป้าหมายแล้วเสร็จใน 30 วัน ได้แก่
1. กระทรวงดิจิทัลฯ จัดทำร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงทางออนไลน์ พ.ศ. …. ขณะนี้ อยู่ระหว่างนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดยมีบทลงโทษการซื้อขายบัญชีม้า (หรือบัญชีธนาคารที่คนร้ายซื้อมาเพื่อใช้รับโอนเงินของเหยื่อ) การโฆษณาซื้อขายบัญชีม้า การทำให้ธนาคารสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน สำหรับของพฤติกรรมที่ต้องสงสัยและสามารถระงับพฤติกรรมดังกล่าวได้ เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ประชาชน ตัดวงจรอาชญากรรมฉ้อโกงออนไลน์ก่อนกระทบในวงกว้าง ซึ่งในการจัดทำ พ.ร.ก. ได้ดำเนินการร่วมกับทุกหน่วยงาน ปปง. สตช. ธปท. สมาคมธนาคารไทย กสทช.
2. กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ยกระดับการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ผ่านแอพลิเคชั่นเป๋าตัง โดยกระทรวงดิจิทัลได้ลงนามความร่วมกับกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 65 ประชาชนสามารถรับทราบรูปแบบการฉ้อโกงทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ผ่านแอปเป๋าตัง ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคนทั่วประเทศ
3. ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแนวนโยบายเพิ่มเติม กำหนดให้ธนาคารมีการตรวจสอบชื่อเจ้าของเบอร์โทรศัพท์และชื่อบัญชีเงินฝากให้ตรงกัน รวมทั้งให้ mobile banking ใช้งานได้ 1 หมายเลขโทรศัพท์ ต่อ 1 อุปกรณ์
4. สมาคมธนาคารไทย ป้องกันการหลอกโอนเงินผ่าน Remote Control Application ของคนร้าย และมีการแจ้งเตือนลูกค้าผ่าน mobile banking อย่างต่อเนื่อง
5. ปปง. จัดการแก้ไขปัญหาการรับจ้างเปิดบัญชีม้า โดยแจ้งข้อมูลบัญชีม้าผ่านระบบให้ธนาคารจัดการในกรณีที่เป็นบัญชีผิดกฎหมาย และคาดว่าจะปิดบัญชีม้า ได้ 7,000 – 10,000 บัญชีใน 1 เดือน
6. สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจัดการผู้ครอบครองซิมโทรศัพท์จำนวนมากและไม่ลงทะเบียนยืนยันตัวตนตามระบบ หากไม่มายืนยันให้ถูกต้องจะถูกระงับการให้บริการ เพื่อป้องกันการนำ SIM ไปใช้ทำผิดกฎหมาย
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า “ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงาน ปปง. ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบ E-Banking / Mobile Banking การป้องกันการโอนเงินผ่าน Remote control Application ที่คนร้ายใช้ และ สำนักงาน กสทช. เร่งจัดการกับผู้ถือครอง Sim จำนวนมากและยังไม่ลงทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ดำเนินคดีต่อผู้ทำความผิด”
บิ๊กป้อมย้ำ “รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินการในทุกด้านเพื่อปกป้องประชาชนจากมิจฉาชีพและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมาย การสร้างความตระหนักรู้ การปราบปรามผู้กระทำความผิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยวันนี้ ได้กำหนดเป้าหมายดำเนินการให้เห็นผลใน 30 วัน”
ประชาสัมพันธ์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โย นสพ.ประเด็นรัฐ