23 – 27 ธ.ค. 2565 ชวนเที่ยวมหาสารคาม กราบบูชาสักการะพระบรมธาตุนาดูน ชมฟ้อนรำจำปาศรี กว่า 1,000 ชีวิต หุ่นกระติบและหุ่นฟาง ช้อปของดีถิ่นอีสานตลาดวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจไทย
วันที่ 23 ธันวาคม 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย “หุ่นกระติบ งึดอีหลี ยลวิถี ของดีอีสาน” ประจำปี 2565 ณ จังหวัด มหาสารคาม โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นางฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติปี พ.ศ. ๒๕๓๖ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ผู้บริหารวธ. วัฒนธรรมจังหวัด 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประธานมูลนิธิพระบรมธาตุนาดูน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาวัฒนธรรม ศิลปินพื้นบ้านอีสาน เครือข่ายวัฒนธรรม และนักท่องเที่ยวเข้าร่วม ณ พระบรมธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
รมว.วธ. กล่าวว่า วธ. ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานราก ในระดับชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ของรัฐบาล รวมทั้งผลักดัน “Soft Power” เพื่อส่งเสริมความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วธ. จึงจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ขึ้น ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค โดยครั้งแรกจัดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ชื่องาน “หุ่นกระติบ งึดอีหลี ยลวิถี ของดีอีสาน” ระหว่างวันที่ 23 – 27 ธันวาคม 2565 ณ พระบรมธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ยกระดับพระบรมธาตุนาดูน เป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และตามรอยอารยธรรมนครจำปาศรี เปิดพื้นที่ให้ พี่น้องชาวภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด นำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับศิลปิน เครือข่ายทางวัฒนธรรม ผู้ประกอบการสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม รวมทั้ง เป็นการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางตลอดจนเสริมฐานรากทางวัฒนธรรมให้เกิดความเข้มแข็ง และยกระดับการจัดงานในระดับท้องถิ่นให้เป็นงานระดับชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลายน่าสนใจ ประกอบด้วย กราบบูชาสักการะพระบรมธาตุนาดูน ชมการฟ้อนรำจำปาศรี จำนวน 1,000 คน จัดนิทรรศการมหกรรมหุ่นกระติบและหุ่นฟางอย่างยิ่งใหญ่ นิทรรศการแสดงศิลปะ พิธียกอ้อ ยอครู บายศรีสูตรขวัญครูศิลปินอีสาน การเสวนาทางวิชาการ ตลาดวัฒนธรรม การสาธิตผลิตภัณฑ์ และบริการทางวัฒนธรรม CCPOT และ 5F การสาธิตวิถีถิ่น วิถีไทย จาก 20 จังหวัด ชมการสาธิตการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ช้อปผลิตภัณฑ์ชุมชน วิถีชุมชน ชาติพันธุ์ในภาคอีสาน ร่วมกิจกรรมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเมืองโบราณนครจำปาศรี เชิงวัฒนธรรมและเชิงสุขภาพ ชมนิทรรศการภูมิปัญญา วิถีชีวิต นอกจากนี้ มีการแสดงแบบผ้าไทย ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล มหาไหมเมืองคาม มรดกภูมิปัญญาสู่สากล การแสดงวงออเคสตร้า โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และโขนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมศิลปินพื้นบ้านมากมาย
ทั้งนี้ งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯ ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่ภาคเหนือ “อารยธรรมแห่งสายน้ำ วัฒนธรรมจีนไทย สานสายใยชาติพันธุ์” วันที่ 16 – 20 มกราคม 2566 ณ บริเวณหาดทรายต้นแม่น้ำเจ้าพระยา และอาคารพาสาน อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ต่อด้วยภาคกลางและภาคตะวันออก “ดนตรีสานศิลป์ สองถิ่นวัฒนธรรม” วันที่ 9 – 13 มิถุนายน 2566 ณ บริเวณวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และปิดท้ายที่ภาคใต้ “สานศิลป์ แดนดินใต้ เทิดไท้องค์ราชัน” วันที่ 26 – 30 กรกฎาคม 2566 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประชาสัมพันธ์กระทรวงวัฒนธรรม