เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เป็นประธานเปิดงาน Soft Power ชาติพันธุ์ พลังสร้างสรรรค์ชาติ และร่วมเฉลิมฉลองวันสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก ประจำปี 2567 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ โดยมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จากทั่วประเทศกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ร่วมงาน
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวในโอกาสนี้ว่า “รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเฉลิมฉลองกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จากทั่วประเทศทั้ง 60 กลุ่มชาติพันธุ์ ในโอกาส วันสำคัญที่สหประชาติกำหนดให้เป็นวันเฉลิมฉลองความหลากหลายทางชาติพันธุ์ รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค และเห็นว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพี่น้องกลุ่ม ชาติพันธุ์ เป็น “พลังสร้างสรรค์” หรือ Soft Power ของประเทศ โดยมีนโยบายดูแลพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี”
“สำหรับกระทรวงวัฒนธรรม ได้เร่งรัดผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 และสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการวาระแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 และขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อเป็นของขวัญให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในโอกาสเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์”
“การได้มาร่วมงานในวันนี้ ดิฉันได้เห็นถึงศักยภาพทางวัฒนธรรมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จากทั่วประเทศ ดิฉันจึงมั่นใจว่า เมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศเรา เพราะเมื่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการคุ้มครองสิทธิและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค มีความมั่นคงในชีวิต มีความภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ ก็จะพร้อมใช้ศักยภาพ “ทุนวัฒนธรรม” เป็น Soft Power เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จะสามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังสร้างสรรค์ชาติให้มีความสามารถทางการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประเทศอย่างยั่งยืน” นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวทิ้งท้าย
ในโอกาสเดียวกันนี้ นายโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ว่า “ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งส่วนราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง 35 มาตรา เสร็จแล้วในเบื้องต้น โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาทบทวนถ้อยคำให้มีความสอดคล้องกันทั้งฉบับ ซึ่งผมเชื่อว่าในชั้นกรรมาธิการวิสามัญจะพิจารณาเสร็จได้ทันภายในเดือนสิงหาคมนี้”
“สำหรับพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มวัฒนธรรมและส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นการสร้างโอกาสแห่งความเสมอภาคของคนทุกกลุ่มในสังคม โดยในกระบวนการยกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ศึกษาวิจัยเปรียบเทียบกับกรณีของต่างประเทศ และศึกษาผลกระทบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนกฎหมายชาติพันธุ์ จึงเชื่อว่านี่จะเป็นกฎหมายที่ดีที่สุดอีกฉบับหนึ่งของประเทศไทยที่จะคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มวัฒนธรรมอย่างเสมอภาคกัน” นายโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ นายอภินันท์ ธรรมเสนา โทร 094 514 4153
email: tonseas@hotmail.com
ประชาสัมพันธ์กระทรวงวัฒนธรรม
โย ประเด็นรัฐ