“ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการขับเคลื่อนสู่เวทีโลก” เผยเป้าหมาย 3 เดือน – 1 ปี เร่งกระตุ้นท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ท่องเที่ยวยามค่ำคืน ยกระดับเทศกาลประเพณีระดับโลก
วันนี้ 2 ตุลาคม 2567 เวลา 09.45 น.นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานในการมอบนโยบายการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม “22 ปี กระทรวงวัฒนธรรม นำคุณค่า พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหารส่วนราชการ, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, กรมศาสนา, กรมศิลปากร รวมถึงประธานสภาวัฒนธรรมเครือข่ายกระทรวงวัฒนธรรมทั้ง 76 จังหวัด เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวเน้นย้ำว่ากระทรวงวัฒนธรรมเดินทางมาถึงปีที่ 22 ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 และก้าวต่อไปสู่ปีที่ 23 โดยยึดมั่นในแนวทาง “วัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ซึ่งจะเน้นนำวัฒนธรรมไทยมาต่อยอดและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการใช้ Soft Power ผ่านวัฒนธรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กระทรวงวัฒนธรรมได้นำเสนอนโยบายภายใต้กรอบ “4 – 3 – 2 – 1” ซึ่งย่อมาจาก 4 นโยบายหลัก 3 แนวทาง 2 รูปแบบการดำเนินงาน และ 1 เป้าหมาย รวมถึงการพัฒนางานวัฒนธรรมในมิติที่ครอบคลุมเศรษฐกิจ สังคม และการขับเคลื่อนสู่เวทีโลก โดย 4 นโยบายหลักของกระทรวงวัฒนธรรม คือ:
ส่งเสริมและพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ ด้วยการนำศิลปะ วัฒนธรรม และมรดกท้องถิ่นมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านสินค้าวัฒนธรรมและบริการ เสริมสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมและทันสมัยเพื่อรองรับความเติบโตในอนาคต
เสริมพลังสร้างสรรค์ให้คนไทยเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรม โดยพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะและความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมและ Soft Power ใหม่ๆ พัฒนาสินค้าและบริการวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งในตลาดโลก โดยการนำอัตลักษณ์ไทยเข้าสู่เวทีโลกเพื่อขยายฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ
นอกจากนี้ นางสาวสุดาวรรณยังเน้นถึง 3 แนวทางสำคัญในการปฏิบัติงาน ได้แก่: การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมวัฒนธรรมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น วัฒนธรรมกับเทคโนโลยี การเกษตร การแพทย์ เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ การทำงานร่วมมือกับทุกภาคส่วนและหน่วยงาน ด้วยการบูรณาการความร่วมมือในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน รวมถึงชุมชนท้องถิ่น
การสร้างความยั่งยืนใน 3 มิติ ทั้งในมิติของการบริหารจัดการ การนำเสนอคุณค่าทางวัฒนธรรม และประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อสังคมและเศรษฐกิจ
ในด้านของรูปแบบการดำเนินงาน กระทรวงวัฒนธรรมยังมีการนำเสนอ 2 รูปแบบ ได้แก่:การรักษาสิ่งเดิม โดยการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทยและนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นในรูปแบบที่ทันสมัย
การเพิ่มเติมสิ่งใหม่ โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ๆ เช่นการนำวัฒนธรรมไทยเข้าสู่ตลาดออนไลน์ระดับโลก และผลักดันวัฒนธรรมสู่ Soft Power ที่คนทั่วโลกเข้าถึงได้ง่าย
สำหรับเป้าหมายหลัก 1 เป้าหมายของกระทรวงวัฒนธรรมคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการใช้วัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ในเวทีโลก โดยวางเป้าหมายให้แรงงานที่มีทักษะสูงด้านวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นจาก 9.9 แสนคน เป็น 1.2 ล้านคนภายในระยะเวลา 3 ปี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมยังกล่าวถึงความสำคัญของการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงวัฒนธรรมมีแผนเร่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น การท่องเที่ยวยามค่ำคืน เทศกาลประเพณี และการส่งเสริม World Event อย่างเทศกาลลอยกระทง ให้กลายเป็นสินค้าท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ดร.ยุพา ทวีวัฒนกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากการบรรยายเรื่อง “การขับเคลื่อนวัฒนธรรม สู่พลังแห่งอนาคต” ยังได้มอบแนวทางปฎิบัติงาน การทำงานให้กับข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรมเพิ่มเติม เพื่อให้การดำเนินงานด้านวัฒนธรรมประสบความสำเร็จ ทันสมัยในยุคปัจจุบันและมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังเตรียมเร่งรัดการยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย คอนเทนต์ไทย และสินค้าเชิงวัฒนธรรมอื่นๆ รวมถึงผลักดันเมืองสร้างสรรค์เชื่อมโยงท้องถิ่นสู่สากล และพัฒนาแรงงานให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ Soft Power ในระดับสากล
ภาพ/ข่าว: โย ประเด็นรัฐ